ช่วงนี้ผมมีโอกาสไปสำรวจตลาดแถวๆสยามพารากอนมาครับ (ข้ออ้างของการไปช้อปปิ้ง)
พบว่าสงครามฟรีค่าธรรมเนียมนั้น เป็นเพียงภาพย่อยๆในหลายๆสงครามของธุรกิจการเงิน ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะโลกในตอนนี้นั้น ไม่ใช่เพียงธนาคารแข่งกับธนาคารอีกต่อไปแล้ว แต่ธนาคารกำลังแข่งกับบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่พร้อมจะเข้ามาทำลายล้างการทำงานในรูปแบบเดิมๆของธนาคาร และแย่งชิงลูกค้าของธนาคารไป
Rabbit Line Pay เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งจริงๆผมก็เคยเขียนถึงเล็กน้อยไปแล้วเมื่อตอนเขียนบทความนี้
บทวิเคราะห์ SCB และ KBANK ถึงเวลาธนาคารบอกลาค่าธรรมเนียม?
แต่นั่นคงยังไม่เพียงพอ เพราะภาพการแข่งขันที่ชัดเจนมันอยู่ใกล้ๆตัวเรานี่เอง โดยศึกครั้งนี้เป็นของ SCB กับ Rabbit Line Pay ครับ
เริ่มด้วย Rabbit และ Rabbit Line Pay กันก่อน


จะเห็นว่าของฝั่ง Rabbit นั้นเป็นการไปแตะบัตร หรือ Scan QR Code ที่ร้านอาหารแต่ละร้านโดยตรง และพิเศษหน่อย ถ้าเป็น Rabbit Line Pay (Scan QR Code ผ่านมือถือ) ยังจะได้เงินคืนอีก 30 บาท ซึ่งแอบเขียนไว้ตัวเล็กๆ ใต้คำว่า 50% (คือถ้าสั่ง 60 บาทพอดี ก็ได้คืน 50% แต่ถ้าสั่งเกิน ก็ได้คืน 30 บาทนะครับ)
มาต่อกันที่ SCB ซึ่งจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ Food Court แต่เหมารวมไปถึงการซื้อของในห้างสรรพสินค้าของกูร์เมต์มาร์เก็ตด้วย ซึ่งโปรโมชั่นถือว่าเชื้อเชิญให้สมัคร App มากๆ โดยผมขอพูดถึงตัวเด่นๆแค่ 2 ตัวพอนะครับ
- ช้อปของใน Gourmet Market 500 คืน 100 >>> ลด 20%
- ซื้อบัตรเติมเงินด้วย SCB EASY 150 คืน 50 >>> ลด 33%

สงครามโปรโมชั่น ของใครดีกว่า?
ถ้าพิจารณาจากโปรโมชั่น เหมือนว่า Rabbit Line Pay จะคุ้มกว่า ที่มีโอกาสได้คืนถึง 50% แต่เมื่อดูราคาอาหารในพารากอนแล้ว ราคาส่วนใหญ่ก็ราวๆ 90 บาทขึ้นไป ทำให้การได้คืน 30 บาท ก็คิดเป็นประมาณ 33% อยู่ดี แต่ไม่ต้องเสียเงินถึง 150 บาท ซึ่งถ้าราคาอาหารแพงกว่านั้น SCB EASY ก็ดูจะตอบโจทย์กว่า
เรียกว่าโปรโมชั่นของสองค่ายนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเท่าไหร่เลย เพราะให้เงินคืนสัดส่วนพอๆกัน อยู่ที่ว่าลูกค้าทานอาหารมื้อนั้นราคาเท่าไหร่ (จริงๆของ SCB ถ้า Scan ที่ร้านอาหารเลย ไม่แลกบัตร จะได้โปรจ่าย 60 คืน 20 ที่เขียนไว้ในภาพ ซึ่งน้อยกว่า Rabbit Line Pay ผมเลยไม่ยกมาเทียบนะครับ)
ทำสงครามไปทำไม?
ศึกครั้งนี้ไม่ต่างจากสงครามฟรีค่าธรรมเนียม ในแง่ที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่ทำไม SCB กับ Rabbit Line Pay ถึงต้องพยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกรรมที่เราใช้จ่ายขนาดนั้น อยู่ดีๆคงไม่มีใครอยากเสียเงินทำการตลาดโดยที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ครับ
ถ้าวันหนึ่งเราเสพติดการใช้ Cashless ไปแล้ว โดยผ่าน App ใด App หนึ่งเป็นหลัก เมื่อนั้นคงจะเพิมอำนาจต่อรองให้กับเจ้าของ Platform เหมือนอย่างที่ทุกวันนี้ Facebook มีอิทธิพลในวงการสื่อและโฆษณามากสุดๆ เรียกได้ว่ากินรวบเกือบทุกแบรนด์ต้องพึ่งพา Facebook
…แล้วถ้าใครกินรวบ Platform การจ่ายเงินได้ ก็น่าจะสามารถทำได้หลายสิ่งหลายอย่าง เพราะเป็นหน้าต่างบานแรกที่ลูกค้าเลือกเพื่อจะไปจ่ายเงิน ซึ่งสามารถเอาไปเอื้อต่อการทำธุรกิจ ธุรกรรมอื่นๆ เพราะพ่อค้าแม่ค้ายังไงก็ต้องการเงิน และอยากให้ลูกค้าตัวเองสะดวก เงินลูกค้าอยู่ที่ไหน คนขายก็พร้อมจะไปตามเก็บเงินบน Platform นั้น (เช่นเดียวกับการที่ร้านค้ามีเครื่องรูดบัตรเครดิต) เหมือนที่ AliPay กับ WeChat Pay ที่แผ่ขยายห้างไทยยังต้องเปิดรับ เพื่อให้ลูกค้าคนจีนสามารถจับจ่ายใช้สอยได้สะดวก
นอกจากนี้บริษัทที่มีข้อมูลการจ่ายเงินของลูกค้าเยอะขนาดนี้ ก็ไม่แปลกที่จะทราบฐานะการเงินของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็ต่อยอดไปทำผลิตภัณฑ์เงินกู้ ขายประกัน หรือแนะนำการลงทุนได้อีก และนี่คือ รูปแบบหนึ่งของ BIG DATA นัั่นเอง
เนื่องจากตอนนี้ค่อนข้างยาวแล้ว …ผมเลยขอจบไว้เพียงเท่านี้ก่อน จริงๆแล้วเนื้อหาที่ผมอยากจะเล่าและคาดเดาต่อไปอีก เกี่ยวกับเทคโนโลยีในธุรกิจธนาคารยังมีอีก ไว้ติดตามต่อในตอนถัดไปนะครับ
อย่าลืมกด See First ใน Fan Page ธุรกิจใกล้ตัว
และสามารถ Follow ได้ที่ Twitter : @MeReviewTH นะครับ