เมื่อหลายวันก่อน SCB Connect ส่งแคมเปญเข้ามาใน LINE ของผม โดยให้แชร์กิจกรรมของ SCB ผ่าน Facebook เพื่อให้รับ LINE Gift Code มูลค่า 30 บาท และมีจำนวนจำกัดครับ (ใครอยากได้ต้องรีบกด)
ดูเผินๆแล้วก็เป็นแคมเปญการแจก Code เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์กับ SCB ธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือ ปกติไม่มีใครเค้าแจกเงิน 30 บาท แลกกับแชร์เดียวง่ายๆ ผมเลยคิดว่ามันต้องมีเงื่อนไขอะไรแน่ๆ พอกวาดตาดูก็เจอเลยครับ
สิ่งที่น่าสังเกต และสนใจ
1.สิ่งที่ SCB จะได้ไปขึ้นข้อมูล Public บน Facebook ของคนที่แชร์
ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องความชอบ ความสนใจ สิ่งที่แชร์ สิ่งที่กดไลค์ ส่วนชื่อบางคนก็อาจจะบอกว่าไม่เป็นไร เพราะ ก็ตั้ง Public เฉพาะที่อยากเปิดเผยไว้อยู่แล้ว แถมอาจจะใช้ชื่อปลอม อายุปลอมอีกต่างหาก ไม่มีอะไรจริงเลย
2.เดิมที SCB Connect ที่แจ้งเตือนทุกธุรกรรมทางการเงินให้เราฟรีๆนั้น (เจ้าอื่นยังไม่ฟรี เพราะผ่าน SMS)
เชื่อมต่อข้อมูล LINE และ บัญชี SCB ของเราอยู่ ทำให้ SCB ทราบได้ว่าเราใช้ LINE โปรไฟล์อะไร เราคือใคร เพราะ SCB มีทั้งชื่อ สกุล และเงินในบัญชีของเรา
3.ถ้า LINK ที่ส่งมามีข้อมูลอ้างอิงว่ามาจาก LINE บัญชีใด (ซึ่งควรจะมีนะ ไหนๆ SCB ทำแล้ว)
SCB จะได้ข้อมูล Profile LINE ของเรา ผูกกับ Profile Facebook ส่วนชื่อบน LINE หรือ Facebook ทาง SCB ไม่ต้องสนใจ เพราะมีชื่อ นามสกุล และอายุ ของจริงอยู่บนระบบของ SCB อยู่แล้ว
4.เมื่อทุกอย่างรวมกัน ตอนนี้ SCB ก็จะมีข้อมูลประมาณนี้ (ผมแยกสีไว้ให้ตามบริษัท)
- ชื่อ-สกุล
- จำนวนเงิน
- ข้อมูลการโอนเงิน
- ข้อมูลที่ Public ใน LINE (ข้อนี้ผมไม่แน่ใจว่ามีอะไรบ้าง อาจจะแค่กดไลค์ กดแชร์ บน LINE ซึ่งอาจจะน้อย)
- ความสนใจ
- เพจที่กดไลค์
- สิ่งที่ชอบ
- สิ่งที่แชร์
ซึ่งน่าจะเอาไปต่อยอดได้ว่ากลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ หรือการใช้เงินประมาณไหน ชอบอะไร
และถ้ารวมกับสิ่งที่ผมเพิ่งเขียนไปว่า SCB มีแคมเปญคืนเงินเมื่อจับจ่ายใช้สอยที่ห้างสยามพารากอน
SCB ปะทะ Rabbit Line Pay เปิดศึกดึงฐานลูกค้าที่ Siam Paragon
สิ่งทีี่ SCB อาจจะได้ไปเพิ่ม เพราะเป็นข้อมูลที่อยู่บนใบเสร็จ ก็คือ
- ลูกค้าชอบซื้ออะไร
- ลูกค้าชอบอาหารแบบไหน
แม้ดูเผินๆทั้งหมดจะเป็นการโปรโมตให้ใช้แพลตฟอร์มธรรมดา แต่เมื่อเชื่อมโยงกับสิ่งที่ SCB มีข้อมูลอยู่แล้ว และกำลังเก็บเพิ่ม ผมเชื่อว่า SCB กำลังพยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปวิเคราะห์และใช้งานต่อไป หรือ BIG DATA นั่นเอง
ซึ่ง SCB มีบริษัทลูกที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน คือ SCB ABACUS ซึ่งทำเกี่ยวกับ AI
การจะให้ AI ทำงานได้นั้น ก็ต้องมีข้อมูลมหาศาล ดังนั้น SCB จึงรีบต้อนคนเข้า Platform ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการฟรีค่าธรรมเนียม ให้ส่วนลด ให้เงินคืน มีโปรโมชั่นมากมาย เพื่อให้ข้อมูลของผู้ใช้งานไปทำรายการส่วนใหญ่กับ SCB
ซึ่งคุณอาทิตย์ นันทวิทยา (CEO ของ SCB) เคยพูดไว้ตอนงาน SCB Vision 2020 ว่าจะเป็นคนเปิดเกมก่อน เพราะอย่างน้อยก็เป็นคนกำหนดทิศทางของเกมได้เอง และผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน ก็ทำมาแล้วกับการประกาศฟรีค่าธรรมเนียม ซึ่งแม้จะไม่ใช่ธนาคารแรกสุดที่ให้ฟรี แต่เป็นธนาคารแรกที่ให้ฟรีค่าธรรมเนียมแบบไม่มีเงื่อนไข
ก่อนหน้านี้ TMB กับ Krungsri ต้องใช้บัญชีเฉพาะ หรือผูกพร้อมเพย์ แต่ SCB เป็นเจ้าแรกที่ไม่มีเงื่อนไขจริงๆ ซึ่งหลังจากนั้น KBANK ก็ตามมาแทบจะทันที ส่งผลให้เจ้าอื่นๆต้องทยอยตามมากันเกือบหมด
(สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในลิงค์ด้านล่าง)
บทวิเคราะห์ SCB และ KBANK ถึงเวลาธนาคารบอกลาค่าธรรมเนียม?
สิ่งหนึ่งที่ SCB ได้ไปในทางการตลาด คือ ภาพจำจากเรื่องฟรีค่าธรรมเนียม
แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะ SCB เป็นคนเปิดเกมก่อน ดังนั้น SCB รู้ว่าตัวเองควรจะทำอะไรต่อไป และพร้อมกว่าคนอื่น (เพราะบางเจ้าอาจจะเป็นการปรับให้ฟรีตามเพื่อรับมือ ไม่งั้นลูกค้าหนีหมด)
ถ้าดูจากแคมเปญที่ส่งออกมาเก็บข้อมูลต่างๆ ก็น่าจะใช้เงินจำนวนไม่น้อย ในขณะที่หลายๆธนาคาร ก็มีประกาศตั้งบริษัทลูก หรือ ทำโครงการต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีเห็นของที่ออกสู่ตลาดสักเท่าไหร่ (อาจจะกำลังทำอยู่)
งาน DATA และ Platform เป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี เพราะ DATA นั้นต้องใช้เวลาสะสมถึงจะมีมากพอที่จะเอาไปวิเคราะห์ต่อได้อย่างแม่นยำ ส่วน Platform นั้น ต้องมีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานยังใช้ต่อ จะได้มี DATA ใหม่ๆเข้ามาในระบบด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างของ Platform : เช่น SCB EASY, Facebook, LINE
ซึ่งในมุมของลูกค้า ถ้าใช้ Platform ไหนแล้วจบ ก็คงไม่หันไปหา Platform อื่นแล้ว และยิ่งในยุคฟรีค่าธรรมเนียมแบบนี้ ธนาคารยิ่งต้องดิ้นรนหารูปแบบการทำเงินแบบใหม่ๆต่อไปอีก เพราะนี่ไม่ใช่การเอาตัวรอดเพื่อแข่งกับธนาคารด้วยกันเองเพียงอย่างเดียว
แม้แต่ LI์NE ก็มีการเก็บข้อมูล อัดแคมเปญ เพื่อดึงให้คนเข้าไปใช้ Platform มาพักใหญ่ๆแล้ว และต้องไม่ลืมว่า แต่เดิม LINE ก็ไม่ใช่ BANK ยังลงมาแข่งในสนามนี้เลย
นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงของธนาคารไทยยังไม่หมดแค่ LINE เพราะยังมี Samsung Pay, Alipay, Wechat Pay, Apple Pay และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งหลายๆเจ้ามีข้อมูลสะสมจากประเทศอื่นๆอยู่แล้ว เพียงแค่คู่แข่งเหล่านั้นยังไม่ได้รุกคืบเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยอย่างจริงจังเท่านั้นเอง
ถ้าชอบบทความนี้ อย่าลืมไปกด See First ใน Fan Page ธุรกิจใกล้ตัว กันนะครับ
นอกจากนี้ยังสามารถ Follow ได้ที่ Twitter : @MeReviewTH ครับ