ข่าวที่ออกมาติดๆกันในช่วง 2-3 วันนี้และน่าสนใจมากๆ คือ SCB และ KBANK ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมบางรายการซึ่งหลักๆคือการโอนเงินข้ามธนาคาร, โอนเงินข้ามเขต, เติมเงิน และ จ่ายบิล ผ่านช่องทาง Website และ Mobile Application
ของ SCB จะมีพิเศษหน่อยตรงที่ฟังก์ชั่นอย่าง กดเงินไม่ใช้บัตร ที่ให้ถอนเงินจากตู้ ATM ได้ ก็ได้รับการอัพเกรดให้กดเงินได้ทั่วประเทศ ไม่เสียค่าธรรมเนียม (จากเดิม กดฟรีในเขต ถ้าข้ามเขตเสียเงิน)
- SCB เริ่ม 26 มีนาคม 2561 – 31 ธันวาคม 2561
- KBANK เริ่ม 28 มีนาคม 2561 – 31 ธันวาคม 2561
ซึ่งถ้าถามว่าเรื่องนี้ใหม่มั้ย คงต้องตอบว่าไม่ใหม่มากนัก เพราะ SCB กับ KBANK ก็ไม่ใช่เจ้าแรก ธนาคาร TMB ก็เคยทำมาก่อน แต่ TMB ยังไม่ใช่ธนาคารที่มีฐานลูกค้าเท่า SCB กับ KBANK
นอกจากนี้ Promptpay ก็ให้โอนข้ามเขต ข้ามธนาคารกันได้ฟรีๆ หรือ ถ้าโอนเยอะ ค่าธรรมเนียมก็ถูกมากแต่เรายังต้องเลือกธนาคารหลักที่จะใช้รับเงินอยู่ดี เมื่อมีบริการอย่างพร้อมเพย์เกิดขึ้น ค่าธรรมเนียมการโอนที่ธนาคารจะได้ก็ลดลงอยู่แล้ว
ธนาคารกำลังมีความเสี่ยง
การเข้าสู่วงการการเงินของบริษัทสายเทคโนโลยีเริ่มมีมากขึ้น
เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 ดีลสะท้านวงการอย่าง mPay ของ AIS ที่เข้ามาร่วมทุนกับ Rabbit Line Pay ถือเป็นจุดสำคัญในการชำระเงินที่สำคัญจุดหนึ่ง เพราะนี่คือหนึ่งในงานที่แต่ก่อนเป็นของธนาคาร แต่…
- Rabbit ซึ่งมีฐานลูกค้า BTS
- mPay ซึ่งมีฐานลูกค้า AIS
- และ LINE ซึ่งเกือบทุกคนมีติดมือถือ
กำลังจะเข้ามาร่วมให้บริการรับชำระเงินเช่นกัน ซึ่งนี่เป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งของธนาคาร เมื่อ App Chat ที่ทุกคนใช้งานอย่าง LINE กำลังจะกลายร่างเป็นบริษัทรับชำระเงินรายใหญ่ ที่จ่ายได้ตั้งแต่ค่ามือถือ รถไฟฟ้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่ซื้อของออนไลน์
ธนาคารกำลังจะไม่จำเป็นสำหรับผู้บริโภคในบางฟังก์ชั่น ทั้งๆที่มันเคยเป็นสิ่งที่ธนาคารทำได้ดีที่สุด …เพราะเป็นเรื่องเงินๆทองๆ และเงินของลูกค้าก็อยู่กับธนาคารเยอะที่สุด แต่ลูกค้ากำลังมีทางเลือกใหม่ๆที่อยู่ในมือ ที่ไม่ใช่ธนาคารแล้ว
คำถามที่คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ถามไว้ในงาน SCB Vision 2020 ว่า
“ถ้า LINE มีใบอนุญาตให้ทำธนาคารได้
คิดว่าจะสู้กับ SCB ได้หรือไม่?”
ดูเป็นคำถามที่ไม่เกินเลยไปนัก เพราะเพียงไม่นานหลังจากนั้น ดีล mPay + Rabbit Line Pay ก็เกิดขึ้น แถมถ้ามองไปที่ตลาดต่างประเทศ ทั้ง LINE และ Grab ต่างก็เปิดบริษัทลูก เพื่อเตรียมให้บริการด้านการเงินกันแล้ว
ผลกระทบ
1.ต้นทุนการจัดการเงินสด
รายการส่วนใหญ่จะเกิดบนช่องทางออนไลน์ คนจะไม่เดินเข้าสาขา หรือใช้งานผ่านตู้ ATM ทำให้ธนาคาร ลดต้นทุนในการจัดการเงินสดตามตู้ ATM หรือ สาขา เพราะคนจะเบิก ถอน เป็นเงินสดกันน้อยลง
เช่น จากเดิมที่บางคน อาจจะแค่ถอนเงินจากธนาคาร A ไปธนาคาร B ไม่อยากเสียค่าธรรมเนียม ทำให้ธนาคารต้องสำรองเงินสด เพื่อให้ลูกค้ามีเงินสดไปฝากที่ธนาคารอื่น ลูกค้าก็จะหันไปใช้การโอนออนไลน์แทน ธนาคารไม่จำเป็นต้องมีเงินสดสำหรับธุรกรรมง่ายๆแบบนี้ แล้วค่อยไปเคลียร์กันเองระหว่างธนาคารจะสะดวกกว่า ไม่ต้องกระจายเงินเข้าสาขา หรือตู้ ATM ค่าขนเงิน กับความเสี่ยงในการเคลื่อนย้ายเงินก็ลดลง
2.พนักงานสาขา
ในขณะเดียวกัน พนักงานสาขาจะมีงานน้อยลง เพราะงานง่ายๆอย่างการถอนเงิน โอนเงิน จะถูกย้ายมาทำบนช่องทางออนไลน์แทน ซึ่งน่าจะสามารถลดจำนวนสาขา และพนักงานในสาขาลงได้อีก
หลังจากนี้พนักงานสาขาที่เคยทำงานส่วนนี้ อาจจะต้องไปทำอย่างอื่น เช่น แนะนำการลงทุน หรือ ให้คำปรึกษาด้านการเงินแทน
3.รายได้จากค่าธรรมเนียม
ธนาคารจะไม่ได้ค่าธรรมเนียมจากบริการโอน เติม จ่าย และผมเชื่อว่าปริมาณรายการจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เพราะทุกคนจะใช้กันแบบเต็มที่ ตามที่ใจต้องการ (ก็มันไม่เสียเงินแล้วนี่) ซึ่งเมื่อ SCB กับ KBANK เริ่มขยับ ผมเชื่อว่าธนาคารอื่นก็จะทยอยตามมา เพราะไม่งั้นคงเสียลูกค้าให้กับ 2 ธนาคารใหญ่นี้แน่นอน (ฟรี ยังไงก็ดีกว่าเสียเงิน)
ซึ่งการทำแบบนี้ก็เป็นการตีกัน และทำลายคู่แข่งหลายๆเจ้าไปพร้อมๆกัน ทั้งพวกบริการรับชำระเงินตามเคาท์เตอร์ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า, ร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึง Digital Wallet ทั้งหลายด้วย เพราะธนาคารคือแหล่งเก็บเงินของลูกค้า ก็น่าจับตามองว่ากลุ่มอื่นๆจะปรับตัวอย่างไรกับช่วงเวลาที่ธนาคารยังไม่คิดค่าธรรมเนียมเลย (แถมอยู่ในมือถือ ไม่ต้องเดินไปเคาท์เตอร์)
4.ธุรกิจใหม่
ข้อนี้ผมขอคาดเดา สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้นะครับ …จะเห็นว่าทั้ง SCB และ KBANK ยอมตัดรายได้ตัวเอง อย่างค่าธรรมเนียมไป แล้วทั้งสองธนาคารกำลังแข่งอะไรกัน ได้ประโยชน์อะไรจากการทำแบบนี้
สำหรับผม ผมคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นของธุรกิจใหม่ครับ ถ้าธนาคารไม่ทำ ก็คงจะถูก FinTech หรือ Start Up เจ้าอื่นโกยฐานลูกค้าไป เพราะหลายเจ้าเริ่มทำบริการได้ตอบโจทย์ลูกค้า และอยู่ใกล้ตัวลูกค้ามากกว่าธนาคารซะอีก
การแข่งกันให้บริการฟรีๆของ SCB และ KBANK รอบนี้ เหมือนกับทั้งสองธนาคาร กำลังพยายามโกยฐานลูกค้าเข้า Platform ตัวเองให้ได้มากที่สุด ให้ตัวเองเป็นธนาคารอันดับ 1 ในใจของลูกค้า ถ้าลูกค้าจะทำอะไรเกี่ยวกับเงินๆทองๆ ให้เข้า App ของตัวเอง
แล้วถ้าถามว่าทั้งสองธนาคารจะได้อะไรจากการที่ลูกค้าเข้า App ตัวเอง …ตัวอย่างไม่ใกล้ไม่ไกล ก็คือแบบ LINE ซึ่งเริ่มจากการเป็น Chat application แต่ต่อยอดมาทำ
- Line TV ฉายละครย้อนหลัง
- Line Man บริการส่งของ และอาหาร
- หรือแม้แต่ Line Pay ซึ่งให้บริการด้านการเงินได้
เพราะลูกค้าเข้าใช้งาน Line บ่อย ทำให้ Line แทบจะเป็น One Stop Service และ Line ก็เนื้อหอมมากพอที่ยักษ์ใหญ่หลายๆเจ้าในอดีตต้องร่วมมือกับ Line เช่น ช่อง3 ก็จับมือกับ Line TV ไปเมื่อไม่นานมานี้
แล้วเกี่ยวข้องกับธุรกิจใหม่ของธนาคารยังไง?
ผมคิดว่าการที่คนใช้งานธนาคารไหนบ่อยๆ ธนาคารก็จะ…
1.มีอำนาจต่อรองอื่นๆ กับผู้ค้าทั้งหลาย
เช่น ถ้าลูกค้าซื้อสินค้า ผ่าน App ของธนาคาร ก็ไปคิดค่าธรรมเนียมกับ ผู้ค้ารายนั้นๆ
ตัวอย่างที่มีให้เห็นแล้ว และอาจจะทำได้ เช่น มีเมนูซื้อตั๋วหนัง
2.มีบริการเสริมให้กลุ่มลูกค้าธุรกิจ
เช่น ลูกค้าบริษัท หรือ SME ได้สิทธิพิเศษ ในการมีช่องทางการขายหรือโฆษณา บน Platform ของธนาคาร ก็จะดึงดูดให้บริษัทมากู้เงิน หรือ ใช้บริการอื่นๆกับธนาคารมากขึ้น
ตัวอย่างที่มีให้เห็นแล้ว และอาจจะทำได้ เช่น โครงการก้าวคนละก้าว เป็นแบนเนอร์บนหน้าแรกของ SCB EASY
3.ได้ข้อมูลการโอน การจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าตามความเป็นจริงมากขึ้น
เพราะของเดิมมีเรื่องค่าธรรมเนียมมาเกี่ยวข้อง ลูกค้าอาจจะใช้แค่บางรายการ แต่ของใหม่ ลูกค้าสามารถใช้แบบไม่บันยะบันยัง ทำให้ธนาคารทราบพฤติกรรมทางการเงินของลูกค้าได้
เช่น เงินเดือนเข้าวันไหน เคยทราบอยู่แล้ว แต่ลูกค้ามีการโอนเงินไปที่ไหน จ่ายเงินค่าอะไร เมื่อไม่ใช่เงินสด ระบบมีการตรวจจับไว้ได้หมด
ซึ่งนี่คือ BIG DATA ที่ธนาคารสามารถนำไปต่อยอด เพื่อสร้างผลกำไรอื่นๆให้ธนาคารได้อีก เช่น บริการที่ตอบโจทย์มากขึ้น หรือ จับคู่ลูกค้ากับสินค้าที่ลูกค้าน่าจะต้องการได้
ผมเชื่อว่าทั้งหมดที่ KBANK กับ SCB ทำเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่กำลังจะตามมา และที่สองธนาคารนี้กำลังทำอยู่ เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่รอดในยุค Digital Disruption
ยุคที่หากไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเอง ก็จะถูกบังคับให้เปลี่ยนเข้าสักวัน หรือ ถ้าแย่ยิ่งกว่านั้น คืออาจจะไม่มีโอกาสได้เปลี่ยนแปลง แล้วถูกทำลายล้างด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
อ้างอิง
แอปและเว็บ SCB Easy ไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามธนาคารและการจ่ายบิล
มาแบบเป็นทางการ กสิกรไทยประกาศฟรีค่าธรรมเนียม โอน จ่าย บน K PLUS, K-Cyber ตั้งแต่พรุ่งนี้
เตรียมกู้เงิน-ทำประกันจาก Grab : เปิดตัว Grab Financial เตรียมเปิดแพลตฟอร์มด้านการเงินเต็มตัว
LINE ประกาศจัดตั้งบริษัท “LINE Financial Corporation” ที่ญี่ปุ่น ลุยธุรกิจการเงินเต็มตัว
ลาก่อน mPay เมื่อ AIS ลงทุนร่วม Rabbit LINE Pay รวมกระเป๋าเงินดิจิทัลไว้ที่เดียว
หรือว่าทำเองไม่เวิร์ค? “ช่อง 3” ผูกปิ่นโต LINE TV ฉายละครย้อนหลัง-ปั้น Exclusive Content