บทวิเคราะห์ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย.. ห้ามพัก.. ห้ามรักหมอ (2015)

0
1490
Freelance
Freelance

คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาในหนังเกือบทั้งเรื่องครับ

ผมขออนุญาตแยกวิเคราะห์เป็นตัวละครนะครับ

1.หมออิม

หนังแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่หมอทุกคนที่จะเก่ง
และใช่ว่าเป็นหมอแล้วจะเก่งทุกเรื่อง

หมออิมเคยลองใช้ Photoshop แล้ว
แต่สุดท้ายก็ทำไม่เป็น ในขณะที่ยุ่นใช้มันคล่องมาก

“ทักษะต่างๆเป็นของใครของมัน

เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้”

หมออิมสั่งห้ามยุ่นนอนดึก
แต่หมออิมเองก็นอนดึกเมื่อถึงเวลาต้องอ่านหนังสือสอบ
ทำให้เห็นว่าคนเรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำเพื่อสุขภาพที่ดี
แต่เราจะทำมั้ย ก็มีปัจจัยอื่นๆมา มันอยู่ที่เราเลือกเองทั้งนั้น

แม้จะเป็นหมอเองก็ตาม

2.เจ๋

เพื่อนร่วมงานที่เป็นเหมือนเพื่อนสนิทที่สุดของยุ่นในเรื่องนี้ก็ว่าได้
จะเห็นได้ว่าเจ๋เป็นคนที่จริงจังกับงานมาก ทวงงานยุ่นยิกๆ
และพร้อมจะหาแผนสำรองให้กับงานโดยการโทรเรียกเจิดมาช่วย
จนกระทั่งยุ่นขอร้องและรับปากว่าทำเสร็จทัน

เจ๋เป็นเหมือนตัวแทนของเพื่อนร่วมงานที่เป็นเพื่อนที่ดี
พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อนตลอดเวลา และในขณะเดียวกัน
เจ๋ก็จัดการกับชีวิตตัวเองได้ดี

เมื่อถึงคราวที่ต้องเลือก
เจ๋เลือกครอบครัวไม่ได้เลือกงาน
เพราะการหามรุ่งหามค่ำมันอาจจะมีผลกระทบกับลูกเจ๋

และจุดเปลี่ยนเรื่องลูกเจ๋นี่เอง
ที่ทำให้ยุ่นพบกับจุดเปลี่ยนว่า

Contact Point เดียวของเขากำลังจะหายไป

จริงๆหนังได้ทำให้เห็นตั้งแต่ตอนเจ๋ไปญี่ปุ่นแล้ว ว่ายุ่นไม่มีใคร
(รวมถึงโทรศัพท์ที่มีแต่โทรหาเจ๋)

ซึ่งนั่นทำให้ตอนที่เจ๋ลาออกจากงาน ยุ่นถึงเป็นเดือดเป็นร้อนมาก

3.พี่เป้ง

ตัวละครพี่เป้งสะท้อนอะไรหลายๆอย่าง
คนบางคนสนใจแต่เรื่องงาน และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อเป้าหมาย
ถามว่าตอนดูหนังแล้วเรารู้สึกอย่างไรกับพี่เป้ง
เราอาจจะต้องย้อนดูตัวเราเองว่าตอนที่เราทำงาน
เราทำตัวใกล้เคียงกับพี่เป้งบ้างรึเปล่า

พี่เป้งคือคนที่เอาผลประโยชน์และตัวงานเป็นที่ตั้ง
จนไม่ได้คำนึงถึงเพื่อนร่วมงาน

คำชื่นชมของพี่เป้งล้วนเป็นไปเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง
ถ้วยรางวัลมากมายจึงเป็นของพี่เป้ง
เพราะพี่เป้งเป็นคนที่ทำให้งานมันสำเร็จลงได้ (ไม่ว่าจะใช้ใครก็ตาม)
พี่เป้งถึงได้เป็นผู้จ้าง ไม่ใช่ลูกจ้าง

ภาพลักษณ์ของพี่เป้งดูเลวร้ายในสายตาของเจ๋
แต่ถ้ามองในมุมของธุรกิจก็อาจจะพูดได้ว่าคนแบบนี้แหละ ที่ลูกค้าต้องใช้

งานชิ้นสำคัญของ Lisa ถึงได้ถูกมอบให้พี่เป้ง
หาคนที่สามารถทำงานสเกล2เดือน เสร็จภายใน 2สัปดาห์
และหวยมาออกที่ยุ่น ผู้ซึ่งกำลังเฟล และตบปากรับคำไปนั่นเอง

4.ไก่

พนักงานเซเว่นผู้ให้คำปรึกษา และเพื่อนยามดึกของยุ่น
ตัวละครนี้ทำให้รู้ว่ายุ่นนอนดึกติดต่อกันมายาวนาน
ไก่เป็นเหมือนคนที่คอย Support ยุ่นให้ยุ่นทำงานเสร็จกลายๆ
(ขายอาหาร/ ช่วยตีแบดให้ยุ่นตาสว่าง)

5.พงศธร

เพื่อนสนิทที่ยุ่นคิดเอาเองว่าสนิท
แต่ยุ่นทำตัวเหินห่างกับพงศธรมาก
อันที่จริงเมื่อเราเติบโตขึ้น
เราก็ย่อมห่างเหินกับสังคมเก่าๆไปบ้าง

อย่างพงศธร น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่ง…ที่ยุ่นละเลยมาก
มากจนถึงขนาดไปนั่งทำงานในงานศพของพ่อพงศธร
…ซึ่งพงศธรก็ถึงกับบอกว่า

“ถ้ามึงยุ่งมาก งานศพกูมึงไม่ต้องมาก็ได้”

ในมุมมองของพงศธรนั้น
ยุ่นก็อาจจะไม่ใช่คนที่สนิทเท่ากับที่ยุ่นคิดแล้ว
(แต่เอาเข้าจริงตอนนึกถึงพงศธรในงานศพของยุ่น พงศธรก็ไม่ได้มาเป็นลำดับแรกๆนะ)

ชีวิตของพวกเราก็มีเพื่อนที่เป็นเหมือนพงศธรอยู่บ้างล่ะครับ ลองนึกดีๆ

6.แม่

เป็นคนที่ถูกลืมที่สุดในหนังเรื่องนี้
มีแต่คำบอกเล่าเฉยๆ
และพีคมากตรงฉากงานศพ
ที่แม่เป็นคนเดียวที่หันหลัง

และพอตัดกล้องกลับมาด้านหน้าเห็นแต่ภาพมุมไกลๆ
เอาเข้าจริงผมคิดว่าหนังพยายามจะสื่อให้เห็นว่ายุ่นให้ความสำคัญกับครอบครัวน้อยมาก
ขนาดมีเวลาว่างๆตั้งหลายเดือนแล้ว ยุ่นยังไม่ได้ตัดต่อรูปให้แม่เลย

7.ยุ่น

จากที่กล่าวมาทั้งหมด6ตัวละครข้างต้น

ผมคิดว่ายุ่นเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับงานสูงสุด

จนลืมทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้างไป

กับหมออิม – ยุ่นทำให้เห็นว่างานสำคัญกว่าสุขภาพหลายต่อหลายครั้ง
กับเจ๋ – ยุ่นโกรธเจ๋ที่เจ๋เลือกครอบครัวมาก่อนงาน และนั่นทำให้ยุ่นเคว้ง
กับพี่เป้ง – ยุ่นดูจะนับถือและเชื่อใจพี่เป้ง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์หัวฟาดโต๊ะนั่นล่ะ
กับพงศธร – เห็นๆกันอยู่ว่างานมาก่อนเพื่อน
กับไก่ – เป็นตัวช่วยที่ Support ให้ยุ่นทำงานได้ เลยเป็นคนที่ยุ่นนึกถึงในงานศพ (ถ้าจำไม่ผิดจะมาถัดจากเจ๋เลย)
กับแม่ – ขอสรุปแบบใจร้ายเลยนะ สำหรับยุ่น

งาน > เพื่อนร่วมงาน > เพื่อน > แม่

8.เจิด

ผู้นับถือยุ่น และมองว่ายุ่นผู้บ้างานคือความเท่

และคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จแบบยุ่น

เป็นอะไรที่สร้างความเข้มข้นให้กับหนังได้มาก

เพราะเมื่อยุ่นใส่ใจกับงานน้อยลง ก็จะตามหลังเจิดในทันที

ก็เหมือนกับชีวิตการทำงานของใครๆก็ตามที่มักจะมีคลื่นลูกใหม่ตามมาเสมอ

9.Freelance

ชื่ออาจจะฟรี แต่ทำจริงๆไม่ฟรี

หนังได้นำเสนอให้เห็นว่าอาชีพนี้ถ้าเอาจริงเอาจังและจะเป็นมือหนึ่งแบบยุ่น

มันหยุดไม่ได้ ถ้านึกจะหยุดก็หยุด ก็จะไม่มีคนจ้าง

สิ่งนี้ทำให้เห็นว่ามันแทบจะไม่ได้ต่างกับพนักงานออฟฟิสเลยด้วยซ้ำ

ใครทุ่มเทมาก ก็มีโอกาสจะก้าวหน้าได้มาก

แต่ถ้าไม่ทุ่มเทก็พร้อมจะถูกเขี่ยออกจากวงการ (ไม่มีคนจ้าง)

เหมือนกับพนักงานออฟฟิสที่ไม่ก้าวหน้านั่นเอง

10.Work Life Balance

เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าชัดที่สุดในหนังเรื่องนี้เลยครับ

ยุ่นคิดว่าการโหมทำงานหนักจะทำให้ได้งานที่ออกมาดี

แต่นอกจากสุขภาพจะพังแล้ว งานก็ยังไม่เสร็จตามกำหนดอยู่ดี

ซึ่งเมื่องานไม่เสร็จ ชีวิตยุ่นก็ยังเดินต่อไปได้ แม้ว่าอาจจะเสียเครดิตเรื่องงานไป แต่ยุ่นก็ยังมีชีวิต

การโหมงานจนเสียชีวิตนั้นคงไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น

เอาจริงๆผมอยากให้หนังตัดจบตั้งแต่ยุ่นล้มหัวฟาดพื้นเลยนะ

ถ้าตายฉากนั้นจะ EPIC มากๆ คงเป็นหนังที่น่าจดจำที่สุดในรอบหลายปีเลย (แอบโหด)

เพราะถ้ายุ่นตายแล้ว งานมันก็คือไม่เสร็จอยู่ดี และจะพีคกว่าถ้าสุดท้ายพี่เป้งให้เจิดทำต่อ

แต่นั่นล่ะ ถึงในหนังเรื่องนี้จะไม่ได้กล่าวไว้ แต่พี่เป้งก็คงหาคนมาทำแทนยุ่นจนเสร็จอยู่ดี

การที่หนังไม่ให้ยุ่นตายก็อาจจะเพื่อเปิดทางให้พี่เป้งยกคอมมาให้ยุ่นในฉากถัดมา

เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนแบบนี้ก็มีอยู่จริงแหละ ถึงคนที่ทำงานให้จะป่วยแต่ก็ยังอยากได้งาน

 

ถ้ายุ่นไม่รู้จัก Balance ชีวิตตัวเอง ก็คงต้องป่วยตายเข้าสักวัน

…และถ้าสังเกตขอบตาพี่เป้งไม่ได้คล้ำนะ

Leave a Reply