หมายเหตุ:
- สปอยล์เนื้อหาใน ดิว ไปด้วยกันนะ แนะนำว่าถ้ายังไม่ได้ดู ไปอ่าน รีวิว ดิว ไปด้วยกันนะแบบไม่สปอยล์ แล้วไปดูก่อนจะดีกว่าครับ เพราะหนังเรื่องนี้ผมชอบเพราะสิ่งที่รู้สึกระหว่างดู ถ้ารู้สปอยล์ก่อน ผมอาจจะไม่ชอบหนังขนาดนี้ และมันอาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยกับการมาอ่านสปอยล์หนังจากคอนเทนท์นี้ครับผม
- เขียนตามความคิด ความรู้สึก และความเข้าใจระหว่างที่ดู อาจจะเหมือนหรือแตกต่างจากคนอื่น และอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อก็เป็นได้ครับ
- ยาวพอสมควรเลยครับ แต่ถ้าหยิบยกประเด็นอื่นๆมา ก็เชื่อว่ายังมีให้พูดคุยกันได้มากกว่าที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้
1.เพศที่สามกับการอยู่ในสังคมยุค 90
หนังเปิดเรื่องด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มสองคนอย่างดิวและภพ ซึ่งแม้ตัวอย่างจะชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วสองคนจะรักกัน แต่ช่วงที่ยังไม่เปิดเผยตัวของดิว บรรยากาศในโรงเรียนก็เต็มไปด้วยความอึมครึมและน่าอึดอัด มีการแบ่งแยก กล่าวหากลุ่มคนเพศที่สามอย่างชัดเจน ซึ่งก็ไม่แปลกที่ดิวจะไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นเพศที่สามในตอนแรก และภพเองก็ปฏิเสธการเข้าใกล้ดิว หลังมีอะไรกับดิว
แต่หลังจากทุกคนรู้เรื่องของทั้งสอง การ Bully และการทำร้ายดิวและภพ เริ่มเข้าถึงทั้งสองมากขึ้น ดิวเริ่มอยู่ในโรงเรียนยากขึ้น มีการกรีดโต๊ะด้วยถ้อยคำหยาบคาย มีข่าวลือเสีย ๆ หาย ๆ มากมาย แม้แต่แม่ของดิวเองก็ยังไม่พูดว่ารักดิวเหมือนเดิมในตอนที่ดิวถาม ซึ่งถ้ามองลึกลงไปในความคิดของแม่ดิว คิดว่าน่าจะอยากให้ลูกเป็นเพศปกตินั่นแหละ เลยไม่บอกอะไร เผื่อลูกจะได้กลับมาอยู่ในวิถีปกติ แต่ในมุมมองของดิวที่แม่ไม่ตอบ ความรู้สึกว่าแม่รัก มันคงหมดไปแล้ว เพราะแม่ไม่ตอบ และนั่นยิ่งทำให้ดิวยิ่งอยากออกจากปางน้อย จึงได้เอ่ยปากชวนภพให้ไปด้วยกัน
ในขณะที่ภพ ซึ่งที่บ้านเป็นจีนจ๋ามาก พ่อแสดงท่าทีรังเกียจเพศที่สามชัดเจน ถึงขนาดออกปากว่าทำไมถึงโดนกะเทยต่อย คือแม้แต่แพ้กะเทยยังผิดในสายตาพ่อ ถ้าพ่อรู้ว่าภพชอบดิว คงยิ่งไปกันใหญ่ ทำให้ภพเหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะแตกหักกับที่บ้านอยู่แล้วถ้าจะเลือกดิว แต่เหตุการณ์คงจะดำเนินไปอย่างเงียบๆ ถ้าภพไม่โดนคนที่ศูนย์ฝึกแจ้งไปยังที่บ้านว่าภพมาเข้าฝึก ซึ่งพ่อเองก็เข้าใจว่าลูกไม่ต้องเข้า การไปเข้าฝึกแทนดิว ทำให้ความแตก และภพจึงก้าวออกมา พร้อมกับโดนประกาศตัดพ่อตัดลูก จากพ่อของตัวเอง
เนื้อหาในองค์แรกนี้เป็นเรื่องราวความรักที่ถูกกีดกัน จากความไม่เข้าใจกันของผู้ที่คิดว่าตัวเองหวังดี (ครู พ่อ แม่) หรือจากกรอบของสังคมโดยแท้ ที่จริงดิวกับภพควรจะได้อยู่ด้วยกัน ดิวคงไม่ตาย ถ้าไม่ต้องมีการไปเข้าฝึกเพราะทำให้ความแตก หรือแม้แต่ยังจะได้อยู่บ้านเดิมถ้าพ่อของภพเข้าใจในตัวภพ
ในส่วนของดิวนั้น แม่เพิ่งจะมาบอกว่าดิวเป็นอะไรก็รัก ก็ตอนที่ดิวเตรียมตัวจะไปจากปางน้อยแล้ว ทำให้ดิวต้องเลือกระหว่างอยู่กับแม่ซึ่งเหลือตัวคนเดียว หรือไปกับภพ สำหรับดิวไม่ว่าทางไหนก็เจ็บ แล้วตัวเองก็เป็นคนเอ่ยปากชวนภพเอง
ผมคิดว่าที่ดิวขี่มอเตอร์ไซค์ไปถูกรถชน ก็อาจจะไปเพื่อห้ามภพไม่ให้ขึ้นรถไฟไป แล้วให้ภพมาพักที่บ้านชั่วคราว หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ตกลงกับแม่ได้ เพราะเหมือนแม่จะเปิดทางให้ดิวกับภพแล้ว ส่วนภพที่กลับมาที่บ้านได้ในตอนหลัง ผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะภพไม่ได้ไปกับดิว เลยไม่มีอะไรรั้งไว้ไม่ให้กลับบ้าน ภพอาจจะไม่ได้ชอบผู้ชายคนอื่นอีกเลย นอกจากดิว ก็อาจจะมีส่วนทำให้กับมาคุยกับที่บ้านได้เหมือนเดิม
นอกจากนี้กรอบของสังคมที่บีบคั้นดิวกับภพนั้น ก็มีผู้หวังดีอื่นๆบังคับให้ภพและดิวต้องทำตามกรอบอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็ส่งผลในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ผลลัพธ์เล็กๆ อย่างการที่ภพได้แผลมาจากการฝึก ไปจนถึงการเป็นต้นเหตุของการที่ภพต้องบ้านแตก และนำมาซึ่งความตายของดิว ก็เพราะมีคนหวังดีไปบอกพ่อของภพ มันก็น่าคิดว่าภายใต้ความหวังดีเหล่านั้น มันไม่ได้ทำให้ผลลัพธ์เกิดอะไรดีๆขึ้นมากับใครเลย ทั้งกับพ่อภพ แม่ดิว รวมถึงตัวภพและดิวเอง
ก็อาจจะใช่ที่เรามองด้วยกรอบความเชื่อปัจจุบันแล้วมองว่าคนในยุคนั้นทำผิดไป (จากความคิดตอนนี้) แต่หากมองย้อนไปในกรอบยุค 90 คนในยุคนั้นก็คงจะมองว่าตัวเองหวังดี ประสงค์ดีต่อคนๆนั้นจริงๆ เพราะการเป็นเพศที่สามในยุคนั้นมีโอกาสโดนล้อเลียน กลั่นแกล้ง ใส่ร้ายป้ายสี และอื่นๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความหวังดีแบบนั้นก็ส่งผลร้ายกับตัวผู้ได้รับความหวังดี และคนรอบข้างของผู้ได้รับความหวังดีนั้นด้วยเช่นกัน แม้ว่าผู้หวังดีอาจจะมองว่าตัวเองทำไปด้วยเจตนาที่ดีหรือไม่ก็ตาม
ตัวละครที่โชคร้ายที่สุดนอกจากภพและดิว ก็คงจะเป็นแม่ของดิวที่นอกจากจะโดนบังคับให้เลือกว่า จะยอมรับลูกที่เป็นเพศที่สาม หรือ จะเสียลูกทั้งคนไปตลอดกาล เพราะลูกกำลังจะหนีออกจากบ้านแล้ว ..และถ้าไม่ได้คุยกันก่อน ดิวก็คงไม่กลับมาอีก
ซึ่งเนื้อหาในหนังมันก็เป็นอะไรที่น่าเศร้านะ ที่แม้ว่าแม่จะเลือกยอมรับในตัวดิว แต่สุดท้ายก็ยังต้องเสียดิวไปอยู่ดี เพราะบ้านภพไม่ได้ยอมรับเหมือนบ้านดิว และดิวก็ต้องออกไปรับภพ ทำให้ดิวต้องเสียชีวิตในท้ายที่สุด แม้หนังจะไม่ได้กลับไปเล่าเรื่องของแม่ดิวอีก แต่ผมคิดว่าแม่ของดิวคงต้องใจสลายอย่างที่สุด
ส่วนตัวแทนของคนหวังดีที่มีบทพูดชัดเจนที่สุด (และดูดีที่สุด) ก็อาจจะเป็นครูรัชนีที่มากอดปลอบใจภพในตอนโตและพูดกับภพว่า
“อย่าให้บาดแผลในอดีตมาฉุดรั้ง
ไม่ให้เราเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่เลยนะ”
เราเชื่อว่าครูรัชนีก็คงหวังดีกับภพ แต่ในยุค 90 ครูรัชนีก็เป็นหนึ่งในคนที่อยู่ในเหตุการณ์การส่งนักเรียนไปอบรมในค่ายด้วยเช่นกัน และแม้ในกรอบยุค 2019 ครูรัชนีที่ยังหวังดีกับภพ แต่คำแนะนำของครูรัชนี ก็คือภพควรจะก้าวข้ามดิว (หลิว) ไปสักที ก็อาจจะพูดได้ว่าหวังดีกับภพ เลยไม่อยากให้ภพคบกับดิว(หลิว) นั่นแหละ เพราะจะไม่เกิดผลดีกับตัวภพเอง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นคนที่ซัพพอร์ตหรือเห็นด้วยกับความรักของภพเลยทั้งสองครั้ง ซึ่งถ้ามองแบบกรอบของสังคม มันก็ไม่ได้ให้ผลดีกับภพจริง ๆ นั่นแหละ
ยังไงก็ตาม ข้อแตกต่างระหว่างครูรัชนีกับผู้หวังดีอื่นๆ คือครูรัชนีไม่ได้ก้าวก่ายเรื่องของภพและดิวไปมากกว่าคำแนะนำข้างต้น และเลือกที่จะพูดกับตัวภพเอง ไม่ได้พูดกับคนอื่น
2.รักต่างวัย รักข้ามภพ รักนอกใจ
ส่วนตัวแล้วครึ่งหลังเป็นพาร์ทที่ผมไม่ได้เอาใจช่วยหนังแต่อย่างใด เพราะผมไม่เชื่อเรื่องการกลับมาเกิดใหม่ในหนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกมันดูเลื่อนลอย ปกติผมเชื่อในวิทยาศาสตร์ ทำให้ครึ่งหลังเกือบจะเป็นส่วนที่ทำให้ผมไม่ชอบในหนังเรื่องนี้ไปเลย
รักต่างวัยยังไม่เท่าไหร่ แต่รักของครูกับลูกศิษย์ที่อายุยังไม่น่าจะถึง18 สังคมก็คงไม่ยอมรับอยู่ดี แม้ว่าคราวนี้ดิวกับภพอยู่ในเพศสภาพที่สังคมในยุค 90 ยอมรับแล้วก็ตาม แต่ดิวในร่างหลิวมีแฟนแล้ว ในขณะที่ภพเองก็แต่งงานแล้วนะ สถานะตอนนี้คือชู้ชัดๆ เป็นอะไรที่ไปสุดทางของการไม่ยอมรับในสังคมแทบจะทุกกรณี และยิ่งมาบวกกับการปูเรื่องกลับชาติมาเกิด บอกตรงๆว่าไม่เชื่อ ไม่อิน และไม่เอาใจช่วยอะไรใดๆกับคู่นี้ด้วยมุมมองที่เล่ามาทั้งหมดข้างต้น
จนกระทั่งเนื้อเรื่องเดินมาถึงตอนที่ทั้งคู่คุยกันบนรถไฟ จบที่กระโดดลงน้ำ …ผมบรรยายความรู้สึกที่มีต่อฉากนั้นในขณะนั้นไม่ถูกจริง ๆ เพราะ ความรู้สึกมันเยอะและหลากหลายทิศทางมาก ๆ เราควรจะดีใจที่ทั้งสองหากันเจอ เราควรจะแปลกใจที่มันเป็นการกลับชาติมาเกิดจริงๆ หรือ เราควรจะรู้สึกยังไงกับความรักของสองคนนี้นะ
แต่อย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกได้ คือ ดิวและภพน่าจะรักกันมากจริงๆ และทำสิ่งที่เราไม่คาดคิด ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปมองครึ่งหลังทั้งหมด ด้วยความไม่เชื่อ ไม่อิน ไม่เอาใจช่วยทั้งหมด มันทำให้ผมความรู้สึกต่อหนังเรื่องนี้ต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง และนั่นทำให้ผมชอบภาพรวมของหนังทั้งเรื่องมาก ๆ
ผมคิดว่าครึ่งแรกของหนัง หนังนำเสนอในมุมที่ทำให้เราเข้าข้างดิวกับภพ เพราะสังคมตอนนี้ยอมรับความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันมากขึ้นแล้ว เราเลยเอาใจช่วยตัวละคร แต่เราอาจจะยังไม่ยอมรับความสัมพันธ์ของสองตัวละครในครึ่งหลัง เพราะมันเต็มไปด้วยความผิดขนบของยุคปี 2019 (ซึ่งจริงๆมันก็อาจจะผิดในยุคเก่าก่อนด้วยแหละ)
แต่ถ้าเรามองว่านี่คือดิวกับภพ หรือแม้จะมองเป็นภพกับหลิว สองคนนี้ก็แค่ดิวกับภพที่รักกันเหมือนเดิม อยู่ในสภาพที่สังคมไม่ยอมรับเหมือนเดิม แม้ว่าจะเป็นคู่ชายหญิงแล้วก็ตาม แต่การไม่ยอมรับด้วยกรอบของสังคมว่าความรักแบบนี้ผิด จึงไม่ต่างจากดิวและภพที่เป็นความรักของคนเพศเดียวกันที่ถูกกีดกันในปี 1996
นอกจากนี้โลกยังกว้างขึ้น ข่าวสารมันไม่ได้อยู่แค่ในปางน้อยที่คนรู้กันแค่ในพื้นที่ มันสามารถถูกเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เนต มันเลยเหมือนกับว่าโลกใบนี้ไม่มีที่ของดิวกับภพที่คนให้การยอมรับอีกต่อไป ก็อาจจะไม่ต้องตอบคำถามว่าสองคนจะรอดมั้ย เพราะมันไม่ใช่ประเด็นที่หนังเลือกจะนำเสนอ ฉากบันจี้จั๊มป์เป็นฉากที่ผมอึ้งมาก การฆ่าตัวตายของตัวละครในหนัง เป็นอะไรที่ปกติผมไม่ได้เห็นด้วยเท่าไหร่ (คือโอกาสชอบมีน้อยกว่าไม่ชอบ) แต่เพราะฉากนี้มันเข้ากับสิ่งที่หนังเล่ามาทั้งเรื่อง แล้วตัดจบไปเลยหลังตัวละครอยู่ในน้ำ มันทำให้เราเองก็ตอบไม่ได้ว่าทั้งคู่ตายหรือไม่ตาย
3.ข้างล่างนั่นไม่ใช่จุดจบใช่ไหม
การกระโดดบันจี้จั๊มป์แบบไม่มีเซฟตี้ในมุมหนึ่งก็เหมือนการฆ่าตัวตาย แต่เราตอบไม่ได้ว่าจะตายหรือไม่ตาย และจากการกลับชาติมาเกิด และพบกันอีกครั้งของดิวและภพ ฉากนี้เป็นการกระทำที่สอดคล้องกับ “ดิว ไปด้วยกันนะ” ในครึ่งแรกที่ภพชวนดิวไปขึ้นรถไฟเพื่อออกจากปางน้อย มันเลยดูเป็นฉากที่พอดี และสอดคล้องกันทั้งสององค์
โดยองค์แรก ภพได้เดินทางออกจากปางน้อย ดิวตาย
ส่วนองค์ที่สอง ทั้งสองคนตายมั้ยไม่รู้ แต่ได้ไปด้วยกันแล้ว
ซึ่งเมื่อมันไม่ใช่จุดจบ มันก็เหมือนว่า ดิวในร่างหลิวและภพ จะ“ไปที่ไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่ที่นี่” แบบที่ดิวและภพในยุค 90 เคยคุยกันว่าจะไปที่ไหนก็ได้ ที่ไม่ใช่อยู่ที่ปางน้อย ผมคิดว่าสองคนนี้เหมือนอยู่ในจุดที่ไม่มีที่ยืนบนโลกที่ทุกคนยอมรับอีกแล้ว เลยต้องการออกไปจากจุดนี้ (เสี่ยงตายแล้วรอดคบกันต่อ หรือ ตายจริงแล้วไปเจอกันชาติหน้า ก็แล้วแต่)
ส่วนตัวแล้วที่ผมตีความแบบนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นไปตามที่คุณมะเดี่ยวตั้งใจจะสื่อมั้ย แต่เพราะผมตีความแบบนี้ผมเลยรู้สึกว่านี่เป็นหนังที่กล้า และไปสุดทางมาก แม้จะอยู่บนความหมิ่นเหม่ ที่คิดว่าหลายๆคนอาจจะกระอักกระอ่วน ไม่ชอบใจ และยิ่งมีความเหนือธรรมชาติ ก็อาจจะทำให้คนไม่เชื่อยิ่งรู้สึกไม่อินกับคู่นี้ แล้วก็จะอยู่ตรงข้ามกับฝั่งของคู่ภพและหลิวไปโดยปริยาย
ซึ่งหนังก็ไม่ได้วางตัวให้ภพเป็นคนดีที่เราน่าเอาใจช่วยนัก เช่น มีการจงใจเอาเท้าไปไว้ใกล้ๆหน้าของท็อปตอนวิดพื้น ไม่ว่าจะด้วยความหึงหรืออะไรก็แล้วแต่ (ทั้งๆที่ตอนนั้นเป็นแค่ศิษย์อาจารย์กัน) เราจึงไม่แปลกใจที่ภพต่อยท็อปหมัดนั้นออกไป เรียกว่าจรรยาบรรณครู การยับยั้งชั่งใจ พังทลายสิ้น แต่ทำให้ภาพที่หนังจะสื่ออกมามันชัดดี และก่อนหน้านี้ภพเองก็เคยต่อยพ่อตัวเองมาแล้ว กับแค่เด็กนักเรียนจึงไม่แปลกที่จะต่อย
และเพราะแบบนั้น ผมมองว่าไม่ว่าภพและดิวจะทำเหมาะสมหรือไม่สำหรับเรื่องอื่น ๆ แต่มันควรแล้วหรือที่คนสองคนควรจะถูกตัดสินแบบนี้ ควรเหรอที่เขาทั้งสองจะต้องตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย เพียงเพราะเขาสองคนรักกัน เอาจริงๆเราในฐานะคนดูก็เป็นคนนอก เฉกเช่นเดียวกับคนในสังคมคนอื่นๆในเรื่อง ทุกคนในหนังที่ไม่ใช่ ดิว(หลิว) และภพ ล้วนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่เขาจะคบกันหรือไม่คบกัน แต่ไปทำให้เขาทั้งสองใช้ชีวิตยากขึ้น หรืออยู่ด้วยกันไม่ได้
ทั้งนี้ขออนุญาตมองข้ามส่วนของอร กับ ท็อปไปนะ เพราะถือว่าเป็นผู้เสียหายที่ทั้งสองไม่ได้บอกเลิกกันก่อน แต่หนังมันก็คลุมเครือ เพราะตอนภพกอดหลิว ผมมองว่าเหมือนกอดเพราะคิดถึง ห่วงหา ไม่ได้จะปลุกปล้ำหรือทำอะไรที่ไม่งามไปมากกว่านั้น และยังไม่ได้จะกลับมาคบกันด้วย แต่ที่แน่ๆคือคนดูอย่างเราที่ไม่ใช่อรและท็อป ซึ่งก็แปลว่าเรากำลังยุ่งเรื่องคนอื่นอยู่ และตัดสินเค้า หรือมีส่วนทำให้เค้าเลือกทางนี้นั่นเอง
4.รักแห่งสยาม
ราวกับเป็นเรื่องตลกที่ล้อเลียนกัน …รักแห่งสยามโปรโมทด้วย เรื่องราวความรักของคู่ชายหญิง แต่มีกลายเป็นความรักของเกย์แทน ซึ่งแม้ธีมเรื่องจะเป็นหนังรักหลากหลายรูปแบบ ทั้งรักครอบครัว การแอบรัก รวมถึงความรักของเกย์ แต่ก็ฉาบหน้าหนังไว้ด้วยหนังรักวัยรุ่นชายหญิงใสๆ ทำให้ยุคสมัยหนึ่งคนออกมาตราหน้าหนัง หลังดูจบว่านี่เป็นหนังเกย์ และแอนตี้หนัง พอๆกับที่มีคนชอบหนังที่นำเสนอเรื่องราวความรักของเพศที่สามในรูปแบบที่ไม่ใช่ตัวตลกเป็นครั้งแรก
ดิว ไปด้วยกันนะ ก็เป็นหนังที่หน้าหนังเหมือนหนังรักของเพศที่สาม ที่บางคนจะบอกว่าเป็นหนังเกย์ และยุคนี้สมัยนี้สามารถขายความเป็นหนังรักของคนเป็นเพศเดียวกันได้เปิดเผย (แถมขายดีด้วย ซีรีส์ในฟรีทีวีมีกันเพียบ) แต่พอหนังออกฉายก็กลับกลายเป็นว่าหนังที่ดูเหมือนจะเป็นหนังเกย์ในตอนแรก กลับกลายมาเป็นหนังที่พูดถึงความรักของชายหญิงในองค์สองไปซะอย่างงั้น
ดิวอาจจะเป็นเกย์ เพราะแสดงท่าทีว่าชอบภพก่อนอย่างชัดเจน แต่ภพอาจจะไม่ใช่เกย์ เพราะสุดท้ายก็แต่งงานกับผู้หญิง ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าเป็นไบ หรืออะไรก็สุดแท้แต่ที่ภพจะเป็น แต่ตอนที่หวนกลับมาเจอกับดิวในร่างหลิว ผมมองว่าจริงๆแล้วทั้งสองก็แค่รักกัน ไม่ว่าจะในฐานะเพศที่สาม หรือเพศชายและหญิงปกติ หนังเรื่องนี้มองความรักในรูปแบบของจิตใจของคนสองคน มากกว่าจะถูกครอบด้วยเพศสภาพ
ถ้าคนดูคาดหวังว่าจะมาดูหนัง LGBTQ ก็อาจจะผิดหวังว่าหนังไม่ได้ทำออกมาในลักษณะเพื่อตอบโจทย์นั้นเลย หลังจากที่จบองค์แรกไป หนังก็ไม่ได้พูดถึงความรักของดิวและภพในรูปแบบของเพศที่สามอีกเลย แถมทั้งสองกลับมาเป็นเพศชายหญิงปกติ
ซึ่งผมว่ามันเหมือนย้อนกลับไปล้อเลียน ตอนโปรโมทรักแห่งสยามเลย เพียงแต่กลับข้างกันเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมมองว่าหนังเรื่องนี้ ถ้าโดนสปอยล์มาก่อน ผมอาจจะไม่รู้สึกกับหนังแบบนี้เลย เพราะความคลุมเครือว่านี่คือดิวจริงมั้ย ก่อนถึงฉากกระโดดบันจี้จั๊มป์มันจะหายไป และเราอาจจะถูกฝังหัวให้เชื่อ และเชียร์ภพกับหลิวตั้งแต่แรก หรือไม่ก็จะรู้สึกแปลก ๆ กับการปูเนื้อหาทั้งหมดไปเลย เพราะเรารู้ก่อนแล้วว่านี่คือดิวกลับชาติมาเกิด
5. ดิว ไปด้วยกันนะ
“ตั๋วใบนี้ไม่ได้มีสำหรับฉัน แม้เขาจะขายให้ทุกคนได้เท่ากัน
เพียงแต่ว่า รถขบวนนี้ไม่มีที่ให้กับฉัน จึงไม่มีสิทธิ์เดินทาง”
ท่อนหนึ่งของเพลง Ticket (Day Trip) ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ รักแห่งสยาม ที่คุณมะเดี่ยวแต่ง เป็นหนึ่งในเพลงที่ผมนึกขึ้นหลังดูหนังจบ ดูราวกับว่ารักแห่งสยามคือหนังรักของคนที่ไม่สมหวังในความรัก เพราะ “ตั๋วใบนี้ไม่ได้มีสำหรับฉัน” (เปรียบเทียบตั๋วรถไฟกับการเดินทาง เป็นความรัก) แต่ใน “ดิว ไปด้วยกันนะ” มีฉากขึ้นรถไฟถึงสองครั้งสองครา
ครั้งแรก ภพ ได้ขึ้นไปคนเดียว แม้จะมีสิทธิ์ซื้อตั๋ว เพราะภพมีความรักแล้ว (และเป็นเหตุให้ต้องซื้อตั๋ว) แต่คนรักของภพไม่ได้ไปด้วย
ครั้งที่สอง ภพ ได้ขึ้นไปกับดิวในร่างหลิว ที่แม้ทั้งสองจะได้ตีตั๋วไปด้วยกันและรักกัน แต่ก็ไปจบที่ฉากบันจี้จั๊มป์
ความรักกับเส้นทางสายรถไฟเส้นนี้ใน ดิว ไปด้วยกันนะ เติบโตขึ้นกว่าตอนรักแห่งสยาม เพราะในที่สุดตัวละครในหนังเรื่องนี้ก็ได้ขึ้นรถไฟแล้ว แต่บทลงท้ายของการเดินทางในหนังเรื่องนี้มันก็น่าเจ็บปวดจริงๆ แต่แม้จะเป็นแบบนั้น หนังไม่ได้นำเสนอว่าตัวละครเสียใจด้วยซ้ำ ในการขึ้นรถไฟครั้งที่สองแล้วไปกระโดดบันจี้จั๊มป์ ทั้งสองดูจะมีความสุขมากกว่าที่ในที่สุดก็ได้พบกัน ได้หากันจนเจอ และอยู่ด้วยกัน
“ดิว ไปด้วยกันนะ” จึงเป็นชื่อหนังที่ตอนแรกฟังแล้วงงๆ แต่พอดูหนังจบ มันคือประโยคที่เหมาะกับการอธิบายหนังเรื่องนี้ทั้งสององค์ และความรักของดิวกับภพ รวมถึงสิ่งที่ทั้งสองต้องเผชิญตลอดทั้งเรื่อง
6.เก็บตกรายละเอียดอื่นๆ
ผมคิดว่าหลายๆอย่างในหนังมีความหมายเลยรวบรวมเท่าที่เห็นมานิดๆหน่อยๆครับ
ภพ -> รักข้ามภพ ข้ามชาติ
ชณัฐ กับ ณัชชา >>> ชื่อจริงของดิวกับหลิว เป็นคำที่สลับกันพอดี (Chanut / Nutcha)
เสื้อที่หลิวใส่ตอนขึ้นรถไฟไปกับดิว เขียนว่า “I AM WHO I AM” หรือก็คือ “ฉันเป็นคนที่ฉันเป็น”
ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะหมายความว่า “ฉันเป็นคนที่ฉันเป็น (ฉันคือดิวคนเดิม)” หรือ “ฉันเป็นคนที่ฉันเป็น (คนอื่นจะว่ายังไงก็ช่าง)” แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจ และน่าตีความหมายอยู่มากจริงๆครับ
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านจนจบครับ
ถ้าอ่านถึงตรงนี้ กดไลค์ กดแชร์ หรือทิ้งคอมเมนท์ไว้ที่เพจ Me Review หรือ Follow ผมใน Twitter ได้นะครับ